History

ประวัติและความเป็นมา

 

            Gender dysphoria คือ ภาวะที่เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ซึ่งแต่เดิมนั้นจะถูกเรียกว่า transgender, transsexualism หรือ บุคคลข้ามเพศ คนข้ามเพศอาจจะแสดงตนเป็นคนรักต่างเพศ (heterosexual) รักร่วมเพศ (homosexual) รักร่วมสองเพศ (bisexual) รักทุกเพศ (pansexual) รักหลายเพศ (pansexual) หรือไม่ฝักใจทางเพศ (asexual) ก็ได้

          ที่มาของ transsexualism  เริ่มในปี ค.ศ. 1966 Harry Benjamin เริ่มตีพิมพ์วารสาร "The transsexual phenomenon” โดยบรรยายถึงลักษณะของ transsexualism ทำให้คนภายนอกเข้าใจภาวะดังกล่าวมากขึ้น ต่อมาปี ค.ศ.. 1978 Harry Benjamin ได้ก่อตั้ง Harry Benjamin International Gender Dysphoria Association ขึ้น มีการกำหนดเกณฑ์ในการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาสำหรับกลุ่มโดยเฉพาะเรียกว่า "Standards of Care Transsexuals for Gender Dysphoric Persons" ซึ่งต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “World Professional Association for Transgender Health (WPATH)” และตัวเขาเองได้รับการขนานนามว่าบิดาแห่งการผ่าตัดแปลงเพศ

 


 

          ส่วนในสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมพุทธ มีการกล่าวถึงคนข้ามเพศตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยมีพุทธบัญญัติอ้างอิงว่า “ห้ามบัณเฑาะก์มิให้อุปสมบท” ซึ่งความหมายของ บัณเฑาะก์ คือ ผู้ที่มีแนวโน้มจะร่วมเพศกับเพศชายไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เพราะ ถ้าบวชจะเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ของพระภิกษุสามเณร

          James Caswell (สมัยรัชกาลที่ 3, ค.ศ. 1846) ได้มีการบัญญัติศัพท์ การข้ามเพศ ในแบบกะเทย ไว้ว่า “กะเทยนั้น คือ บุทคลที่มีประเทษที่ลับเปนหญิงก็ใช่ เปนชายใช่นั้น เรียกว่า คนกะเทย” ต่อมา หมอ Dan Beach Bradley ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “คนไม่เปนเภษชาย, ไม่เปนเภษหญิง, มีแต่ทางปัศสาวะ” ซึ่งเป็นเพศที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทย

          ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จะเริ่มเห็นการแสดงออกบุคคลข้ามเพศผ่านสื่อต่างๆมากขึ้น ทั้ง ทาง รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ ทำให้คนข้ามเพศเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เช่น ภาพยนตร์เรื่อง  "ทูทซี" (Tootsie, ค.ศ.1982) กำกับโดย Sydney Pollack นำแสดงโดย Dustin Lee Hoffman ที่นำนักแสดงชายแต่งชุดเป็นผู้หญิงและแสดงในบทบาทต่าง ๆ ทำให้คนข้ามเพศที่เป็นเพศชายและแสดงออกเป็นเพศหญิงถูกเรียกกันว่า “ตุ๊ด” หรือ “ตุ๊ดซี่” ซึ่งมีความหมายสื่อถึงด้านบวกและสื่อถึงความกล้าแสดงออกและเป็นที่ยอมรับมากกว่าคำว่ากระเทย ที่ใช้มาก่อนหน้า

          การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพศกำเนิดมีที่มาตั้งแต่ ปี. ค.ศ. 1832 โดยอาศัยเทคนิคการผ่าตัดคล้ายคลึงกันกับในผู้หญิงที่มีช่องคลอดตีบ แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ประกอบกับ เทคโนโลยีการผ่าตัดที่ยังล้าสมัยทำให้ผลลัพธ์ไม่เข้าใกล้กับเพศหญิง หลังจากนั้นมีรายงานการผ่าตัดประรายเป็นระยะ

           ค.ศ. 1975 ประเทศไทยถือเป็นประเทศเริ่มแรก (ก่อนการก่อตั้งสมาคม Harry Benjamin International Gender Dysphoria Association)  ในการกลับมาผ่าตัดแปลงเพศอีกครั้งอย่างจริงจัง โดย นายแพทย์ปรีชา เตียวตรานนท์ ศัลยแพทย์ผู้บุกเบิกคิดค้นการผ่าตัดแปลงเพศ เริ่มทำผ่าตัดแปลงเพศร่วมกับนายแพทย์ประกอบ ทองผิว ต่อมาเริ่มมีการสอนทำผ่าตัดแปลงเพศในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อปี ค.ศ.1983 ทำให้ในปัจจุบันบรรดาลูกศิษย์เริ่มมีการสืบต่อสอนการผ่าตัดแปลงเพศในหลายที่

           ค.ศ. 2019 ภาควิชาศัลยศาสตร์ตกแต่งจุฬาลงกรณ์ นำโดย นายแพทย์ศิรชัย จินดารักษ์, นายแพทย์อภิชัย อังสพัทธ์ และแพทย์หญิงพูนพิศมัย สุวะโจ ตระหนักถึงองค์ความรู้ทางการผ่าตัดแปลงเพศที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดและสังคมแพทย์ผ่าตัดแปลงเพศที่ขยายออกวงกว้างมากขึ้น จึงมีความเห็นว่า การก่อตั้งชมรมวิชาชีพเพื่อสุขภาพผู้มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด แห่งประเทศไทย (Thailand Professional Association of Transgender Health) จะช่วยพัฒนา ด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ทีเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดระหว่างทุกภาคส่วน และเป็นประโยชน์กับทุกคนในอนาคต จึงเป็นจุดตั้งต้นของชมรมตั้งแต่นั้นมา

 

 

 

 

เรียบเรียงโดย นายแพทย์ ปิยะมิตร สุมนศรีวรกุล